โรคไซนัสคืออะไร
คำว่าไซนัสไม่ใช่ชื่อโรค แต่เป็นชื่อของช่องว่างหรือโพรงอากาศ ของกระดูกใบหน้าบริเวณโหนกแก้มรอบโพรงจมูก, รอบตาและฐานของกระโหลกศีรษะ ถึงแม้ว่าโพรงอากาศนี้จะเป็นที่ว่างเปล่า แต่ภายในโพรงนี้จะบุด้วยเยื่อเมือกบาง ๆ ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับเยื่อบุโพรงจมูก และเจ้าตัวไซนัสนี้ไม่ใช่ช่องว่างที่ไม่มีประโยชน์ เรายังเชื่อกันว่าโพรงไซนัส มีประโยชน์คือ เป็นตัวทำให้เสียงพูดของคนเรามีความก้องกังวาน ไพเราะมากขึ้น และเป็นตัวช่วยปรับสภาพของอากาศที่หายใจเข้าไป ให้มีสภาพความชื้น, อุณหภูมิ และความบริสุทธิ์ ที่เหมาะสมกับร่างกายของเราและเนื่องจากโพรงไซนัสเป็นช่องว่าง ดังนั้น มันจึงเปรียบเหมือนกับโช๊คอัพช่วยลดแรงกระแทกต่าง ๆ ที่จะเข้าไปทำความกระทบกระเทือนกับสมองส่วนในได้อีกด้วย แต่ในปัจจุบัน มีนักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์บางท่านไม่เชื่อในความจริงเหล่านี้ กลับให้ความเห็นว่าโพรงไซนัสนี้ไม่มีประโยชน์กับร่างกายของมนุษย์เลย แล้วตัวท่านจะเลือกเชื่ออย่างไรดี ไซนัสผิดปกติเป็นอย่างไร
ไซนัสที่ผิดปกติ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ เป็นเนื้องอกหรือมะเร็งในโพรงไซนัสซึ่งกลุ่มนี้จะพบได้น้อย ส่วนกลุ่มใหญ่ที่พบได้บ่อยในคนทั่ว ๆ ไป คือ โรคไซนัสอักเสบ ซึ่งมีสาเหตุมาจาก การติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา ในโพรงไซนัส
เป็นที่ทราบกันแล้วว่า โพรงไซนัส คือช่องว่างที่มีเยื่อเมือกบาง ๆ บุอยู่ ช่องเหล่านี้จะมีรูเปิดเล็ก ๆ เชื่อมต่อกับโพรงจมูก ทำให้อากาศภายนอกสามารถไหลเวียนกันระหว่างโพรงจมูกและโพรงไซนัสได้ เนื่องจากว่ารูเปิดของไซนัสมีขนาดเล็กมาก ถ้ามีอะไรมาทำให้รูเปิดนี้แคบลงหรืออุดตัน เช่นในภาวะที่เป็นหวัด ก็จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาทันที เพราะเมื่อรูเปิดนี้อุดตัน ก็จะทำให้อากาศที่เคยไหลเวียนอยู่เกิดการหยุดนิ่ง อ๊อกซิเจนในอากาศจะถูกดูดซึมไป ทำให้ความดันอากาศในโพรงไซนัสเกิดเป็นลบ มีผลทำให้เยื่อบุไซนัสเกิดการบวม และมีการคั่งของน้ำเมือกในโพรงไซนัล ทำให้เชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคหวัด เกิดการเจริญเติบโตขึ้นในโพรงไซนัส ซึ่งก็จะทำให้เกิดการอักเสบ และมีหนองคั่งในโพรงไซนัสขึ้น แต่ภาวะไซนัสอักเสบนี้ไม่ได้เกิดกับคนที่เป็นหวัดทุกคนไป ดังนั้น จึงไม่ต้องกลัวว่าถ้าเป็นหวัดแล้ว จะเกิดความรุนแรงจนถึงขั้นเป็นไซนัสอักเสบตามมาเสมอ
สาเหตุของไซนัสอักเสบที่กล่าวมาข้างต้น เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นอีก คือเกิดจากการอักเสบของรากฟันบนแล้วลุกลามเข้าไปในไซนัส เพราะรากฟันบนจะอยู่ชิดกับฐานของไซนัสบริเวณโหนกแก้ม ถ้าเราเป็นหวัดจะมีโอกาสเกิดไซนัสอักเสบบ่อย ไหม
ในเรื่องนี้ยังไม่มีสถิติที่ชัดเจน สำหรับในประเทศไทย เคยมีผู้รายงานว่า พบโรคไซนัสอักเสบได้ร้อยละ 3-5 ของผู้ป่วยที่มาตรวจที่คลีนิกหู คอ จมูก แต่ไม่ได้ระบุว่าโรคไซนัสอักเสบนี้มีสาเหตุมาจากโรคหวัดหรือไม่ แต่ในรายงานของต่างประเทศพบว่าจะเกิดภาวะไซนัสอักเสบได้ประมาณร้อยละ 0.5 ของการเป็นหวัด นั่นคือ ถ้าเราเป็นหวัด 200 ครั้ง ก็อาจเกิดไซนัสอักเสบได้ 1 ครั้ง นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าพบภาวะไซนัสอักเสบได้บ่อยในผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้และโรคหืด ถ้าดูตามสถิติแล้วจะพบว่าโอกาสเกิดไซนัสอักเสบจะมีค่อนข้างน้อยแต่ยังมี ปัจจัยด้านอื่นที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดไซนัสอักเสบได้ง่ายขึ้น คือ
โรคภูมิแพ้ ในผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ จะมีอาการคันในจมูก, น้ำมูกไหล, คัดจมูก ทำให้ต้องขยี้จมูกและสั่งน้ำมูกบ่อย จึงทำให้เกิดการอุดตันบริเวณเปิดไซนัสได้ง่าย จึงเกิดไซนัสอักเสบง่ายขึ้น
โรคหวัดเรื้อรัง ในผู้ป่วยที่เป็นหวัดตลอดทั้งปี ก็จะมีอาการคล้ายผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ จึงทำให้เกิดไซนัสอักเสบได้ง่าย
ในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของโพรงจมูก เช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด, เป็นริดสีดวงจมูก, เป็นเนื้องอกในจมูก หรือมีสิ่งแปลกปลอมในจมูก ซึ่งพบบ่อยในเด็กเล็ก ในผู้ป่วยเหล่านี้ ก็จะมีการอุดตันของรูเปิดไซนัสได้ง่ายเช่นกัน
ในคนที่ชอบใช้ยาพ่นจมูกโดยมิได้ปรึกษาแพทย์ เพราะยาพ่นจมูกบางตัวจะทำให้เกิดภาวะติดยา และเยื่อจมูกบวมเรื้อรังได้ และยังทำให้ความสามารถในการดมกลิ่นลดลง
การสูบบุหรี่จัด, การว่ายน้ำบ่อย ๆ หรือดำน้ำลึก ๆ และมีฟันด้านบนผุ ก็จะทำให้เกิดไซนัสอักเสบได้ง่ายขึ้น
การเดินทางโดยเครื่องบินในขณะที่เป็นโรคหวัด เพราะขณะที่เครื่องบินขึ้น-ลง จะมีการเปลี่ยนแปลงความกดดันอากาศอย่างรวดเร็ว อาจทำให้เกิดภาวะไซนัสอักเสบได้ จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นไซนัสอักเสบ
โดยทั่วไปผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบ มักจะมีอาการของโรคหวัด หรือโรคภูมิแพ้นำมาก่อน กล่าวคือ จะมีน้ำมูก, คัดจมูก และอาการไอ อาการตามมาที่บ่งชี้ว่าจะเป็นไซนัสอักเสบจะมีดังนี้ คือ
1. ปวดศีรษะ หลังจากผู้ป่วยมีอาการของโรคหวัดแล้ว จะมีอาการ ปวดบริเวณโพรงอากาศที่อักเสบ เช่น ปวดแก้ม, ปวดบริเวณหัวตาทั้งสองข้าง, ปวดบริเวณหน้าผาก หรืออาการปวดในกระบอกตาทั้งสองข้างอาการปวดเหล่านี้ จะเป็นอาการปวดแบบตื้อ ๆ บางครั้งจะมีอาการ มึนศีรษะร่วมกับอาการปวด และจะมีอาการปวดมากขึ้นเมื่อผู้ป่วยก้มศีรษะลง
2. คัดจมูกแน่นจมูก ผู้ป่วยจะเป็นตลอดเวลาถึงแม้ว่าจะทานยารักษาโรคหวัดแล้วก็ตามอาการนี้จะยังไม่หายไป บางครั้งคัดจมูกมาก จนต้องหายใจทางปาก
มีน้ำมูกและเสมหะสีเหลืองเขียว ถึงแม้ว่าผู้ป่วยทานยาแก้อักเสบรักษาโรคหวัด อาการน้ำมูกสีเหลืองเขียวก็ยังไม่หายไป บางครั้ง น้ำมูกจะไหลออกมาเองโดยไม่รู้ตัว บางครั้งก็จะมีความรู้สึก เหมือนมีน้ำมูกไหลลงคออยู่เรื่อย ๆ และในรายที่เป็นมาก ๆ จะมีกลิ่นเหม็นในจมูกซึ่งสามารถรู้ได้ด้วยตัวเอง
3. มีไข้ ผู้ป่วยบางรายจะมีไข้สูงจนหนาวสั่น ในขณะที่มีไขสูง ก็จะมีอาการปวดศีรษะและปวดหน้าร่วมด้วย
4. อาการไอ มีผู้ป่วยบางส่วนมักมีอาการที่กล่าวมาไม่มากนัก แต่จะมีอาการไอเรื้อรังเป็นเวลานาน บางครั้งอาการหวัดหายไปแต่ยังมีอาการไออยู่ และเป็นอาการไอแบบมีเสมหะขันร่วมด้วย
5. ในผู้ป่วยเด็ก มักมีอาการไม่ชัดเจนเท่าในผู้ใหญ่ แต่อาการที่น่าคิดถึงไซนัสอักเสบในเด็ก คืออาการหวัดเรื้อรัง เป็นเวลานาน ๆ, อาการไออย่างรุนแรง และลมหายใจมีกลิ่นเหม็น นอกจากนี้เด็กที่มีอาการของหูอักเสบเรื้อรังและหอบหืด ก็ควรนึกถึงโรคไซนัสอักเสบร่วมด้วย เมื่อมีอาการที่กล่าวมาควรจะทำอย่างไร
เมื่อมีอาการเหล่านี้แล้วก็ต้องมาปรึกษาแพทย์ทางหู คอ จมูกโดยเร็ว เพื่อแพทย์จะได้ทำการตรวจวินิจฉัย และให้การรักษาที่ถูกต้องต่อไป ซึ่งขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยก็จะแบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้
1. การตรวจโดยใช้เครื่องมือทางหู คอ จมูกทั่วไป แพทย์จะใช้เครื่องมือส่องตรวจในรูจมูก, ด้านหลังจมูกและในคอ ซึ่งมักจะพบหนองในบริเวณดังกล่าว บางครั้งแพทย์จะกด หรือเคาะบริเวณหน้าผาก และโหนกแก้ม ซึ่งจะพบอาการเจ็บได้ในผู้ป่วยบางราย
2. การตรวจโดยใช้กล้องส่องในจมูก ในปัจจุบันจะมีเครื่องมือพิเศษที่เรียกว่า SINUSCOPE ซึ่งเป็นเครื่องมือขนาดเล็กมาก ใช้ส่องเข้าไปในจมูก ซึ่งจะพบหนองในจมูกและบางครั้งก็จะบอกถึงตำแหน่งที่เกิดการอักเสบ หรือบอกสาเหตุการอุดตันของรูเปิดไซนัสได้ การตรวจชนิดนี้จะใช้ยาชาเฉพาะที่ โดยที่ผู้ป่วยจะไม่เจ็บและไม่ต้องนอนพักหลังการตรวจ บางครั้งแพทย์จะต่อเครื่องมือเข้ากับโทรทัศน์ให้ผู้ป่วยได้เห็นพยาธิสภาพในจมูกด้วย
3. การถ่ายภาพทางรังสี ซึ่งต้องกระทำทุกรายในผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบ เพื่อจะได้ยืนยันถึงตำแหน่งของไซนัสที่เกิดการอักเสบ, เพื่อบอกถึงความรุนแรงของการอักเสบ, เพื่อบอกถึงระยะเวลาว่าเป็นการอักเสบที่เกิดใหม่ หรือเป็นเรื้อรังมานาน และยังใช้เป็นการติดตามผลการรักษาได้อีกด้วย การถ่ายภาพรังสีจะมีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ การถ่ายภาพรังสีธรรมดา ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย และเสียค่าใช้จ่ายน้อย แต่วิธีนี้ก็ยังบอกรายละเอียดได้ไม่มากนัก อีกวิธีหนึ่งคือ การถ่ายภาพรังสีด้วยคอมพิวเตอร์ (CT scan) ซึ่งวิธีนี้จะให้รายละเอียดมาก อาจบอกถึงสาเหตุของการอุดตันบริเวณรูเปิดไซนัสได้แต่ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากพอสมควร
ในปัจจุบัน มีเครื่องมือพิเศษที่เรียกว่า ULTRASONOGRAPHY ซึ่งใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบบริเวณแก้มได้ แต่ก็ยังไม่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะใช้ได้ดีเฉพาะกับการอักเสบของไซนัสบริเวณแก้มเท่านั้น และยังให้ผลการตรวจวินิจฉัยที่ไม่ละเอียดเพียงพอ
เมื่อผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยแล้วว่าเป็นไซนัสอักเสบ ขั้นตอนต่อไป ก็ต้องให้การรักษาโดยทันที ซึ่งการรักษาจะมีอยู่หลายวิธีที่แพทย์จะนำมาใช้กับผู้ป่วยในแต่ละรายแตกต่างกันไป ซึ่งจะขึ้นอยู่กับชนิดของโรคและระยะเวลาที่ผู้ป่วยเป็นมา วิธีการรักษาก็จะมีดังต่อไปนี้ คือ
1. การรักษาทางยา จะเป็นการรักษาที่ใช้กับผู้ป่วยทุกราย เป็นที่ทราบกันแล้วว่าโรคไซนัสอักเสบ มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นยาที่ใช้เป็นหลักในการรักษาก็คือ ยาปฏิชีวนะสำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้ให้ตรงตามเชื้อที่ทำให้เกิดโรค ในรายที่มีการติดเชื้อราร่วมด้วย ผู้ป่วยก็จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดและอาจได้รับยาฆ่าเชื้อราร่วมด้วย สำหรับยาชนิดอื่น ที่จำเป็นต้องใช้ร่วมไปด้วยก็จะมียาลดการบวมของเนื้อเยื่อ, ยาแก้ปวด และยาละลายเสมหะ เพื่อทำให้หนองที่อยู่ในไซนัสไหลออกมาได้ ส่วนยาแก้แพ้ มักไม่ค่อยใช้ในระยะเริ่มแรก เพราะทำให้สารน้ำที่อยู่ในไซนัสมีความข้นมากขึ้น และจะไหลออกมาได้ยากขึ้น แพทย์บางท่านอาจแนะนำให้ใช้ยาพ่นจมูกร่วมด้วย เพื่อทำให้เยื่อบุจมูกยุบบวมได้เร็วขึ้น หนองในไซนัสก็ไหลออกมาได้ง่ายขึ้นแต่ ยาพ่นจมูกนี้ควรใช้ในระยะเริ่มแรก เท่านั้น และไม่ควรใช้นานเกินกว่าหนึ่งสัปดาห์
2. การรักษาด้วยวิธีเจาะล้าง จะกระทำในรายที่รักษาด้วยยาแล้วไม่ดีขึ้น หรือในรายที่อาการอักเสบหลายครั้ง และมีอาการมากกว่า 3 สัปดาห์ การเจาะล้างนี้ส่วนใหญ่จะกระทำกับไซนัสบริเวณโหนกแก้ม โดยแพทย์จะให้ยาชาเฉพาะที่ ที่บริเวณผนังจมูกด้านข้าง แล้วจะใช้เข็มเล็ก ๆ เจาะหรือสอดผ่านรูเปิดเข้าไปในโพรงไซนัส หลังจากนั้นก็จะใช้น้ำเกลือฉีดล้าง เพื่อให้หนองไหลออกมาจากโพรงไซนัส ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้หลังเจาะล้างเสร็จ การเจาะล้างโพรงไซนัส บางครั้งอาจต้องกระทำหลายครั้ง ร่วมกับการรักษาทางยาจนกว่าอาการของโรคจะดีขึ้น
3. การรักษาด้วยการผ่าตัด จะกระทำในผู้ป่วยที่เป็นเรื้อรังมานานมากกว่า 3 เดือน, ในรายที่ตรวจพบว่าเยื่อบุไซนัสหนาตัวมาก, หรือในรายที่มีความผิดปกติบริเวณรูเปิดไซนัส เช่น เป็นริดสีดวงจมูก เป็นเนื้องอกในจมูก เป็นต้น การผ่าตัดไซนัสนี้ จะกระทำได้ทั้งใช้ยาชาเฉพาะที่หรือใช้การดมยาสลบ แต่ผู้ป่วยมักจะต้องนอนในโรงพยาบาลประมาณ 5-7 วัน การผ่าตัดไซนัส ยังมีวิธีการทำได้หลายวิธี เช่น การผ่าตัดผ่านทางรูจมูก, การผ่าตัดผ่านทางเหงือก, การผ่าตัดด้วยกล้อง ENDOSCOPE เป็นต้น ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดนี้ก็จะต้องได้รับการรักษาทางยาร่วมไปด้วยทุกราย จะมีโอกาสหายหรือมีโรคแทรกซ้อนได้หรือไม่
ผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบในระยะเริ่มแรกและมีอาการน้อย เมื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้องแล้ว มักจะหายได้ใน 2 สัปดาห์ และมักไม่กลับมาเป็นอีก แต่ผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรังหรือมีปัจจัยอื่นส่งเสริมให้เกิดไซนัสอักเสบ หรือเป็นริดสีดวงจมูกร่วมด้วย ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน และก็ต้องปฏิบัติตัวให้ถูกต้องเพื่อตัดปัจจัยส่งเสริมที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นออกไป
ในผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ก็มักจะมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น เกิดการอักเสบของกระดูกบริเวณหน้า, การอักเสบรอบ ๆ ดวงตา, การอักเสบของเยื่อบุคอเรื้อรัง, การอักเสบของหูชั้นกลาง, การอักเสบของหลอดลม ถ้าเชื้อลุกลามเข้าไปในสมอง ก็จะเกิดอักเสบของเยื่อหุ้มสมองตามมา เป็นต้น แล้วควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรดี
ตามที่ได้กล่าวมาในตอนต้น ถึงสาเหตุการเกิดและอาการของไซนัสอักเสบแล้วนั้น ก็พอจะสรุปถึงข้อควรปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดไซนัสอักเสบ หรือเพื่อให้หายจากโรคนี้โดยเร็ว ดังนี้
1. เมื่อรู้ตัวว่าเป็นหวัด ควรรีบรักษาให้หายโดยเร็ว
2. ถ้าเป็นโรคภูมิแพ้ด้วย ก็ควรรักษาอย่างต่อเนื่อง เช่น หลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้, ใช้ยาระงับอาการแพ้อย่างต่อเนื่อง, ใช้วัคซีนรักษาโรคภูมิแพ้ เป็นต้น
3. ควรได้รับการตรวจโพรงจมูก โดยแพทย์ทางหู คอ จมูก ปีละครั้ง
4. ไม่ควรใช้ยาพ่นจมูกโดยมิได้ปรึกษาแพทย์
5. ควรลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น สูบบุหรี่, ว่ายน้ำบ่อย ๆ, ดำน้ำ เป็นต้น
6. ถ้าผู้ป่วยเป็นโรคหวัด ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางโดยเครื่องบิน หรือถ้าจำเป็นก็ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อขอใช้ยาพ่นจมูกร่วมกับยารับประทาน
7. ควรจัดสภาพที่อยู่อาศัยและที่ทำงานให้ถูกสุขลักษณะ, ไม่ควรให้มีฝุ่นมาก, อากาศถ่ายเทได้สะดวก เป็นต้นCr.น.อ.ศักดา สุจริตธรรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น