Jacques-Yves Cousteau เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๐ ที่เมืองเล็ก ๆ ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ชีวิตในวัยเด็กของเขานั้นค่อนข้างโลดโผนและปฏิเสธการเรียนภายในห้องเรียนที่ แสนจะน่าเบื่อ แต่สิ่งที่เขาชอบมากที่สุดก็คือท้องทะเล ที่เขามักจะกล่าวถึงอยู่เสมอ ๆ ว่าเป็นห้องเรียนที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดในโลก
เขาได้ใช้ชีวิตช่วงวัยหนุ่มในการเข้าประจำการเป็นทหารเรือแห่งราชนาวี ฝรั่งเศส ในช่วงนี้เป็นช่วงที่เขาเริ่มต้นค้นหาวิธีการที่จะอยู่ใต้น้ำให้ได้นาน ๆ โดยร่วมมือกับเพื่อน ๆ หลายคนพัฒนาระบบอุปกรณ์ดำน้ำที่เรียกว่า Aqualung ได้เป็นผลสำเร็จในปี ค.ศ. ๑๙๔๓ และเจ้าอุปกรณ์นี้เองก็คือต้นแบบของอุปกรณ์ดำน้ำที่เราใช้กันอยู่ทั่ว ๆ ไปในปัจจุบัน นอกเหนือไปจากอุปกรณ์ดำน้ำแล้ว เขาได้ประดิษฐ์อุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับใช้ในงานศึกษาและวิจัยโลกใต้ท้องทะเลอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกล้องสำหรับถ่ายภาพใต้น้ำ กล้องถ่ายภาพยนตร์ใต้น้ำ ยานพาหนะใต้น้ำ แม้กระทั่งบ้านที่อยู่ใต้น้ำ
ในปี ค.ศ. ๑๙๕๐ เขาลาออกจากกองทัพเรือและเริ่มต้นก่อตั้งCousteau Society ขึ้นมาเพื่อเป็นองค์กรอิสระที่จะทำงานเพื่อศึกษาวิจัยความรู้ในทุก ๆ ด้านที่เกี่ยวกับท้องทะเล เขาและเรือ Calypso ได้ออกเดินทางไปสำรวจน่านน้ำทุกหนทุกแห่งบนโลก (เรือ Calypso เคยเดินทางเข้ามาสำรวจทางสมุทรศาสตร์ในประเทศไทยหลายครั้งด้วยกัน ครั้งล่าสุดที่เขาเดินทางมาด้วยและได้ดำน้ำลงไปสำรวจด้วยตัวเอง เขาพบว่าสภาพใต้น้ำของประเทศไทยนั้นมีอัตรการถูกทำลายเพิ่มขึ้นสูงมากที่สุด แห่งหนึ่งในโลก) ด้วยความมุ่งหวังที่เขาเชื่อว่าท้องทะเลคือคำตอบสุดท้ายของปัญหาหล่ย ๆ อย่างบนโลก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของอาหาร ที่อยู่อาศัย ซึ่งนับวันจะทวีขึ้นจากจำนวนประชากรบนโลกที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ วัน
การทดลองของเขาเคยถึงกับพยายามสร้างเมืองที่อยู่ใต้น้ำขึ้นมา แม้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่ก็ถือได้ว่าเป็นความพยายามครั้งแรกของมนุษย์ ซึ่งจะกลับลงไปอยู่ใต้ท้องทะเลที่เราเชื่อกันว่าเป็นจุดกำเนิดแห่งสรรพชีวิต บนโลกใบนี้
ในช่วงหลังเขาได้เปลี่ยนบทบาทของตนจากนักสำรวจโลกใต้ท้องทะเล มาเป็นแนวหน้าที่ประกาศการต่อสู้ให้ชาวโลกได้ตระหนักถึงอันตรายที่อาจจะเกิด ขึ้นจากการพังทลายของความสมดุลทางธรรมชาติ ซึ่งมนุษย์เป็นผู้กระทำขึ้นจากการตักตวงผลประโยชน์จากท้องทะเลที่มากเกินไป กว่าที่ท้องทะเลจะรักษาสมดุลนั้นเอาไว้ได้
แม้ว่าในปัจจุบันงานของ Cousteau Society จะไม่ค่อยปรากฏให้เห็นมากเท่าใดหลังจากที่เขาวางมือและให้ Jean-Michel Cousteau ลูกชายของเขาเข้ามาดูแลงานแทน แม้ว่าเรือ Calypso ที่เคยแล่นตระเวนไปทั่วร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำจะจมลงที่ท่าเรือแห่งหนึ่งใน สิงค์โปร์เมื่อไม่นานมานี้ และแม้ว่าร่างของเขาจะไม่เหลืออยู่บนโลกนี้แล้วก็ตาม เราทุกคนเชื่อว่าสิ่งที่เขาสร้างเอาไว้จะไม่สูญเปล่า เมื่อในวันนี้ชาวโลกทุกคนต่างก็ตระหนักถึงความสำคัญของท้องทะเลที่มีต่อมวล มนุษยชาติมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น